วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

TCAS หรือ Thai University Center Admission System เป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเริ่มนำมาใช้ในปีการศึกษา 2561 เป็นระบบที่ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
TCAS มีขั้นตอนอย่างไร
ระบบ TCAS ที่ทาง ทปอ. ได้ประกาศออกมา มี 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. คัดเลือกโดยการส่งแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
ในรอบนี้จะพิจารณาจากผลงานของนักเรียนที่นำมาใส่ Portfolio ไม่มีการสอบข้อเขียน ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะคัดเลือกนักเรียนจำนวนหนึ่ง อาจจะมีกาสัมภาษณ์หรือทดสอบทักษะเฉพาะทาง โดยการคัดเลือกในรอบนี้เป็นแค่การ Pre-screening เท่านั้น
2. สมัครโควตาแบบมีสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนในพื้นที่
ในรอบนี้จะเป็นการรับนักเรียนแบบโควตา สำหรับนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ หรือ รอบเขตการศึกษา ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ในขั้นตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยสามารถจัดสอบเองได้เลย หรือจะใช้ข้อสอบส่วนกลาง อย่าง 9วิชาสามัญ หรือ GAT/PAT เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา
3. การรับตรงร่วมกัน
ในรอบนี้เป็นการสอบรับตรง ซึ่งโครงการรับตรงอย่าง กสพท. ก็รวมอยู่ในรอบนี้ด้วย โดยทาง ทปอ. จะเป็นส่วนกลางในการรับสมัครในรอบนี้ และทางมหาวิทยาลัยจะพิจารณาผลการคัดเลือก โดยผู้สมัครสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา
4. การรับ Admission
ในรอบนี้ยังคงใช้เกณฑ์ในการคัดเลือกแบบ Admission โดยใช้องค์ประกอบของคะแนน อย่างเช่น GPAX, O-NET, GAT/PAT หรืออื่นๆ ซึ่งผู้สมัครสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา
5. การรับตรงแบบอิสระ
ทางมหาวิทยาลัยสามารถใช้เกณฑ์การสอบที่จัดขึ้นเอง หรือการสอบวิชาเฉพาะ และส่งผลการคัดเลือกให้ทาง ทปอ.
เหมือนหรือแตกต่าง?

ทุกๆคนคงจะสงสัยว่ามันต่างกับการคัดเลือกที่ผ่านๆมายังไง ระบบTCAS มีการเพิ่ม Clearing-House เป็นระบบที่ใช้ในการยืนยันสิทธิ์ ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในแต่ละรอบจะต้องกดยืนยันสิทธิ์เคลียริ่งเฮาส์ในการที่จะเข้าเรียนได้แค่คนละ 1 ที่ เท่านั้น ระบบนี้สร้างมาเพื่อไม่ให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกหลายๆที่พร้อมกัน “กันที่” ของคนอื่นนั่นเอง และยังสะดวกต่อทางมหาวิทยาลัยในการนับจำนวนคนอีก

เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับระบบใหม่ TCAS ที่ชาว Sanook! Campus นำมาแชร์กัน สำหรับน้องๆปี 61 เตรียมตัวกันให้พร้อมคอยอัพเดทข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าทางเว็บไซด์แคมปัสสนุกของเราจะอัพเดทข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องแน่นอนค่ะ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซด์ของ ทปอ. http://tcas61.cupt.net/ ซึ่งจะเปิดให้ใช้กันในวันที่ 2 มิถุนายน เวลา 18.00 น. 

วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เครื่องฟอกไตออนไลน์

การล้างไตแบบประสิทธิภาพสูง (On-line Hemodiafiltration)

ไตวาย คือ สภาวะที่ไตไม่สามารถทำงานและไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ทำให้เกิดอาการของการคั่งจากของเสีย และน้ำส่วนเกินในร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการซีด เหนื่อยง่าย ผิวหนังแห้ง เบื่ออาหาร คลื่นใส้อาเจียน ความดันโลหิตสูง บวม และเหนื่อยหอบ ถ้าเป็นมากและไม่ได้รับการรักษาก็จะซึมลง ชัก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
วิธีการรักษาคือ การล้างท้อง, การฟอกเลือด และการเปลี่ยนไต เพื่อบรรเทาอาการและต่ออายุผู้ป่วยให้ยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันวิธีการรักษาได้พัฒนาให้ดีขึ้น ผลการรักษาจึงดีขึ้นกว่าแต่ก่อน 
ในปัจจุบันเทคโนโลยีการล้างไตแบบประสิทธิภาพสูง (On-line Hemodiafilltration) เป็นกระบวนการฟอกไตที่มีประสิทธิภาพสูงมาก และได้รับความนิยมมากในประเทศแถบยุโรป เพราะนอกจากสามารถขจัดของเสียโมเลกุลขนาดเล็กได้แล้ว ยังสามารถขจัดของเสียโมเลกุลขนาดใหญ่เช่นฟอสเฟตในร่างกาย ซึ่งการฟอกไตแบบเดิมไม่สามารถทำได้ อีกทั้งระบบน้ำที่ใช้ ยังต้องมีความบริสุทธิ์สูงสุด จึงทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไตด้วยวิธีนี้ มีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น ทำให้ภาวะติดเชื้อลดลง ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดภาวะซีด มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น และลดการคันหลังได้รับการรักษา
ข้อดีของการทำ OL-HDF
  • ลดอัตราการเสียชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดตามปกติ (Hemodialysis) ถ้าได้รับการรักษาในขนาดที่สูงเพียงพอ
  • สามารถขจัดฟอสเฟตได้มากกว่ากระบวนการฟอกเลือดตามปกติ จึงช่วยบรรเทาอาการและลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากฟอสเฟตในเลือดคั่งได้
  • สามารถขจัดของเสียโมเลกุลใหญ่ต่างๆ เช่น Leptin ทำให้ลดอาการเบื่ออาหาร, Beta 2 microglobulin ทำให้ลดภาวะการเกิด dialysis related amyloidosis ลง
  • ทำให้ภาวะซีดในผู้ป่วยดีขึ้น สามารถลดการใช้ยาฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงลง
  • การทำงานระบบหัวใจและหลอดเลือดคงที่กว่ากระบวนการฟอกเลือดตามปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำระหว่างฟอกเลือดลดลง
  • เพิ่มคุณภาพชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดตามปกติ
  • ลดปฏิกิริยาการอักเสบและ oxidative stress ลง

ข้อด้อยของการทำ OL-HDF
  • ต้องอาศัยเครื่องไตเทียมรุ่นใหม่เพื่อความปลอดภัยในการให้การรักษา ซึ่งมีราคาแพงกว่าเครื่องฟอกเลือดปกติ
  • ต้องอาศัยพยาบาลที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการใช้เครื่องไตเทียมประสิทธิภาพสูง
  • ต้องการระบบน้ำที่มีความบริสุทธิ์มากกว่าการฟอกเลือดตามปกติ จึงต้องมีการตรวจติดตามคุณภาพของน้ำที่ใช้ในการฟอกเลือดอย่างใกล้ชิด
  • มีค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อครั้งมากกว่าการฟอกเลือดปกติ