ดูไบ – เผยโฉมครั้งแรกในโลก เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ รถเอนกประสงค์สไตล์เอสยูวี ที่มาพร้อมกับความสมบูรณ์แบบในทุกมิติ และความแข็งแกร่งรองรับทุกการขับขี่ ภายในงานดูไบ อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์
เทรลเบลเซอร์ ซึ่งเป็นรถเอนกประสงค์ 7 ที่นั่งรุ่นล่าสุดของเชฟโรเลต จะขึ้นสายการผลิตออกจำหน่ายทั่วโลก โดยเริ่มจากประเทศไทยเป็นแห่งแรกในโลกในช่วงต้นปีหน้า
ด้วยการผลิต ‘ตัวถังบนแชสซีส์’ (body-on-frame) รถเอนกประสงค์รุ่นใหม่ล่าสุดอย่างเทรลเบลเซอร์ จึงมีศักยภาพทั้งการลากจูง และบรรทุกได้อย่างเต็มที่ โดยยังคงสมรรถนะการขับขี่ได้ดังใจและคงความสะดวกสบายทุกการเดินทาง เทรลเบลเซอร์ได้รับการพัฒนาถัดจากรถกระบะพันธุ์แกร่ง เชฟโรเลต โคโลราโด โดยจีเอ็ม บราซิล มีการใช้โครงสร้างร่วมกัน และได้รับการปรับแต่งให้รองรับการใช้งานสมบุกสมบัน กระทั่งบนเส้นทางออฟโรด พร้อมยังคงความสะดวกสบายในการใช้งานในเมือง
Chevrolet-TrailBlazer
รถเทรลเบลเซอร์ ต้นแบบที่ถูกนำมาโชว์ในงานดูไบ มอเตอร์โชว์ ใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ขุมพลังดูราแม็กซ์ ดีเซลเทอร์โบ 2.8 ลิตรเอกลักษณ์ของจีเอ็ม แรงและประหยัดในทุกรอบเครื่องยนต์ด้วยระบบเทอร์โบแบบแปรผัน
“การเปิดตัวเทรลเบลเซอร์ครั้งแรกในโลกที่ดูไบ มอเตอร์โชว์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดตะวันออกกลางของเจนเนอรัล มอเตอร์ส” จอห์น สตาดวิค ประธานกรรมการ และผู้อำนวยการบริหาร เจนเนอรัล มอเตอร์ส มิดเดิลอีสต์ โอเปอเรชั่นส์ กล่าว “ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทรลเบลเซอร์รุ่นใหม่จะเป็นหนึ่งในสมาชิกใหม่ของครอบครัวเชฟโรเลต ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และแข็งแกร่งทีี่สุด เป็นรถที่สมบูรณ์แบบที่จะแข่งขันในตลาดรถเอสยูวีของตะวันออกกลางได้อย่างสบาย”
“ถึงแม้ว่ารถรุ่นนี้จะเป็นรถต้นแบบ แต่รูปลักษณ์ภายนอกทั้งหมดนั้นมีความใกล้เคียงกับรถที่จะผลิตออกจำหน่ายจริงในปีหน้าอย่างมาก เทรลเบลเซอร์จะเหมาะกับลูกค้าไม่เฉพาะในตะวันออกกลางเท่านั้น หากรวมถึงทุกภูมิภาคทั่วโลก” สตาดวิค กล่าว
ทางด้านแบรด เมอร์เคล ผู้บริหารสายยานยนต์สำหรับรถกระบะขนาดกลาง และเอสยูวี จีเอ็ม โกลเบิล ตอกย้ำว่า เทรลเบลเซอร์ นำเสนอการออกแบบที่โดดเด่น ความแข็งแกร่ง สมรรถนะ และความพิถีพิถัน ที่แข่งขันกับรถออฟโรดจากทั่วโลกได้อย่างสบาย
“ตลาดที่กำลังเติบโตทั่วโลก ต่างต้องการรถที่รองรับการใช้งานได้หลากหลาย นั่นหมายความว่า พละกำลัง และสมรรถนะ ต้องควบคู่ไปพร้อมกับความสะดวกสบายและความประหยัด” เมอร์เคล กล่าว “เทรลเบลเซอร์มีพร้อมทุกสรรพสิ่ง คุณสามารถลากได้ทุกสิ่ง ลุยไปได้ทุกที่ โดยรองรับผู้โดยสารได้ 7 ที่นั่งอย่างสบาย ตลอดจนความประหยัดจากเครื่องยนต์อันทรงคุณภาพ ถือเป็นความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง”
การออกแบบภายนอก – มัดกล้ามอันแข็งแกร่ง
ดีไซน์ภายนอกของเทรลเบลเซอร์ สร้างสรรค์โดยศูนย์การออกแบบของจีเอ็ม ในเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล โดยมีดีเอ็นเอการออกแบบหลายส่วนที่ใช้ร่วมกันกับเชฟโรเลต โคโลราโด
ความโดดเด่นของการออกแบบภายนอก เริ่มจากส่วนของล้อและตัวถังของเทรลเบลเซอร์ ที่นำสายตาให้รถดูเหมือนพร้อมจะทะยานไปข้างหน้าตลอดเวลา (Body in-wheels out) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเชฟโรเลต ฝากระโปรงหน้าเน้นสันขอบบึกบึน โคมไฟหน้าโปรเจคเตอร์ เพิ่มความดุดันให้กับตัวรถ
อีกหนึ่งดีไซน์เอกลักษณ์ของเชฟโรเลต คือกระจังหน้าสองชั้น ดูอัลพอร์ท มีการใส่ใจในรายละเอียดของลวดลายกระจังหน้าให้ดูมีมิติ ตกแต่งเสริมด้วยอลูมิเนียมทั่วทั้งคัน ทั้งด้านหน้า ด้านข้างตัวรถ กระโปรงท้าย และราวหลังคา สีสันภายนอกโดดเด่นด้วยสีขาวมุกที่พ่นเคลือบถึงสามชั้น ไฟท้ายแบบแอลอีดี พร้อมไฟตัดหมอกหลัง
ความสะดุดตาของภายนอก ยังรวมถึง:
• เน้นความพิถีพิถันในการพัฒนาพื้นผิวของตัวถังภายนอก ทั้งฝากระโปรง ประตู และด้านท้าย ด้วยการผสมผสานชั้นแสงธรรมชาติเพื่อให้ดูสดใหม่ในทุกองศา
• ชุดไฟแอลอีดีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อยู่ในกรอบอลูมิเนียม สะดุดทุกสายตา
• ล้ออลูมิเนียมขัดเงาขนาด 20 นิ้ว คู่กับยางคูเปอร์ ซีออน แอลทีแซด
• กระจกมองข้างติดตั้งไฟเลี้ยวแอลอีดี
“เทรลเบลเซอร์ผสมผสานสมรรถนะในการขับขี่บนถนนออฟโรด เข้ากับการใช้งานในเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการสะท้อนออกมาทางรูปลักษณ์ภายนอก” แมท นูน ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของจีเอ็ม บราซิล กล่าว “เห็นได้ชัดว่า เราเพิ่มมัดกล้ามเข้าไป ขณะเดียวกัน เรายังเพิ่มเส้นสายที่ทำให้เทรลเบลเซอร์มีความโฉบเฉี่ยว คล่องตัว พร้อมกับความประณีตพิถีพิถันในแบบรถเอนกประสงค์เอสยูวีระดับพรีเมียม ที่จะทำให้ลูกค้าต้องการครอบครองสักคัน”
Chevrolet-TrailBlazer-cargo
การออกแบบภายใน – กว้างขวาง ประณีต และรองรับทุกการใช้งาน
เอกลักษณ์การออกแบบของเชฟโรเลต ถูกถ่ายทอดมาถึงห้องโดยสาร เพียบพร้อมด้วยความกว้างขวาง การดีไซน์ที่ดึงดูดให้น่าจับต้อง และความยืดหยุ่นรองรับทุกการใช้งาน
โครงสร้างในห้องโดยสารแบบดูอัลค็อกพิท เน้นความสมดุล ทำให้เทรลเบลเซอร์รุ่นใหม่ล่าสุดนี้ มีบุคลิกของรถยนต์นั่ง ควบคู่กับความบึกบึนของรถเอสยูวี เบาะสามแถวรองรับผู้โดยสาร 7 ที่นั่ง โดยผู้โดยสารแถวที่สาม สามารถนั่งได้อย่างสบายด้วยความกว้างขวางที่เหนือกว่ารถในระดับเดียวกัน
“เราพัฒนาที่นั่งให้รองรับได้หลากหลายรูปแบบ และใช้งานง่าย ไม่จำเป็นจะต้องอ่านคู่มือประจำรถก็สามารถปรับเปลี่ยนที่นั่งได้อย่างง่ายดาย” แมท นูน กล่าว “เบาะที่นั่งแถวที่สาม ไม่ได้เป็นที่นั่งเสริม แต่เป็นที่นั่งหลักที่ผู้โดยสารสามารถนั่งตลอดการเดินทางระยะไกลได้สบาย เมื่อผนวกความหรูหราเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เทรลเบลเซอร์กลายเป็นรถเอนกประสงค์รองรับทุกการใช้งานอย่างแท้จริง”
ภายในห้องโดยสารยังรวมถึง:
• แผงคอนโซลบนเพดาน ควบคุมระบบปรับอากาศ และอินโฟเทนเมนท์
• เบาะแถวที่สองพับแยกส่วนได้ 60/40 และพับแบนราบได้ ขณะเดียวกัน ยังสามารถปรับเอนได้ 6 องศา พร้อมที่พักแขนเพื่อความสะดวกสบาย
• เบาะที่นั่งแถวที่สาม พับแยกส่วนได้ 50/50 และพับแบนราบได้
• เมื่อพับเบาะทั้งสามแถวให้นอนราบ จะเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระได้มหาศาล
• ช่องเชื่อมต่อ AUX ยูเอสบี และบลูทูธ
การตกแต่งสีสันในห้องโดยสารเน้นให้ตัดกันอย่างลงตัว ประกอบด้วย เบาะที่นั่งหนังสีอ่อน วัสดุลายไม้สีเข้ม ควบคู่กับโครเมียม เสริมให้ภายในดูหรูหรา ช่องเก็บของมากมายสำหรับผู้โดยสารในทุกที่นั่ง ซึ่งรวมถึงช่องเก็บของตรงกลางที่มีฝาปิดสำหรับเก็บสิ่งของมีค่า ขณะเดียวกัน ยังมีระบบปรับอากาศแยกส่วนแบบดิจิตอล และเทคโนโลยีควบคุมความบันเทิง และข้อมูลของรถอย่างอินโฟเทนเมนท์ รุ่นล่าสุดอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น