วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Lady Bug - ทำไมต้องเลดี้ บัค

Ladybug 
แมลงเต่าทอง
 


 
ชื่อเรียกอื่น : Ladybird, Lady Beetle 

รายละเอียดทั่วไป : “Ladybug” คือ แมลงเต่าทอง บางครั้งก็มีผู้เรียกว่า Ladybird และ Lady beetle มันจัดอยู่ในสายพันธุ์ที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์คือ Coccinellidae มีขนาดความยาวของลำตัวยาว 0.04 – 0.40 นิ้ว (1 – 10 มิลลิเมตร) ปีกของมันจะมีสีแดง หรือสีส้ม หรือมีบ้างที่มีสีเหลือง แต่ที่แน่ ๆ ทุกตัวจะต้องมีจุดวงกลมสีดำอยู่บนปีก 

แล้วทำไม มันจึงมีชื่อราวกับมีแต่ตัวเมียแบบนี้ มุขตลกนี้ถูกนำไปใช้ในหนังของดิสนีย์ด้วย ที่เต่าทองตัวผู้ ถูกเข้าใจว่าเป็นผู้หญิงตลอดเรื่อง 

 

ถ้าเราได้ทราบประวัติความเป็นมาของชื่อนี้ จะรู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นเรื่องของศรัทธาในคริสตศาสนา 

 

นอกจากนี้ ชาวยุโรปยังมีธรรมเนียมความเชื่อว่า หากว่าวันหนึ่งมีแมลงเต่าทองบินเข้ามาในสวนของคุณ หรือถ้าคุณได้ประสบพบกับมัน เชื่อกันว่านี่คือสัญลักษณ์แห่งความโชคดี 

ความเชื่อเรื่องแมลงเต่าทอง หรือ Ladybug เป็นแมลงนำโชค คงต้องเท้าความย้อนกลับไปในสมัยกลางของยุโรป ในตอนนั้นได้เกิดแมลงศัตรูพืชมาทำลายพืชผลในทุ่งนา พวกชาวนาต่างอับจนปัญญา ได้แต่สวดมนต์อ้อนวอนพระแม่มารี ให้ขอต่อพระเจ้า เพื่อโปรดประทานความช่วยเหลือ 


 

เมื่อเสียงวิงวอนของชาวนาผู้น่าสงสารดังไปถึงพระแม่มารี อาศัยคำเสนอวิงวอนของพระมารดาพระเจ้า พระบิดาทรงตอบคำอธิษฐาน และได้ส่งแมลงเต่าทองตัวน้อย ๆ จำนวนมากมาจัดการกับพวกแมลงศัตรูพืชจนหมด ทำให้ช่วยรักษาพืชผลไว้ได้อย่างปลอดภัย เหล่าบรรดาชาวนา จึงพากันขนานนามเจ้าแมลงเต่าทองนี้ว่า “Ladybug” ซึ่งมาจากคำเรียกของคริสต์ศาสนิกชนยามเอ่ยพระนามของพระแม่มารีว่า “Our Lady” หรือ “แม่พระของพวกเรา” เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ ที่พระแม่ทรงวิงวอนเพื่อพวกเขา 

ด้วยเหตุนี้คำว่า “Lady” จึงถูกนำมารวมกับ “Bug” ที่หมายถึงแมลงปีกแข็ง กลายเป็นคำเรียกแมลงเต่าทองนี้ว่า “Ladybug” มาตั้งแต่บัดนั้น 

เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น 

มีอยู่ข่าวหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องแมลงเต่าทอง ที่ย้อนรอยเหตุการณ์เมื่อครั้งสมัยกลางของยุโรปได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่เหตุการณ์ในยุคใหม่นี้เกิดขึ้นจริง ๆ 

เมื่อปลายปี ค.ศ. 1880 ในปีนั้นเกิดเหตุฝูงแมลงบินเข้ามาทำลายต้นส้มของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในครั้งนั้นชาวสวนในแคลิฟอร์เนียได้ร่วมใจกันสั่งซื้อนำเข้าแมลงเต่าทอง 1,000 ตัว จากประเทศออสเตรเลีย หลังจากนั้นภายในสองปีจำนวนแมลงศัตรูพืชก็ถูกทำลายหายไปจนหมด ต้นส้มก็ออกผลได้ดังเดิมอีกครั้ง สร้างรายได้กลับคืนสู่ชาวสวนเหมือนเดิม นี่เท่ากับว่าเจ้าแมลงปีกแข็งลายจุดตัวน้อย ๆ หรือ “Ladybug” เหล่านั้น สามารถกอบกู้วิกฤติและลดการขาดทุนทางเศรษฐกิจได้นับพันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว 




อ้างอิง-Alys R. Yablon. แปลและเรียบเรียงโดยปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล. มหัศจรรย์แห่งลัญลักษณ์เครื่องรางและเคล็ดลับนำโชค. หน้าที่ 218 – 220. กรุงเทพฯ: บริษัท วี. พริ้นท์ (7991) จำกัด, 2552.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น