วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คลี่ปมปริศนา! ยายฆ่าหลานแท้ๆ นี่หรือสังคมไทย?

       จากกรณีน้องเบิร์ด เด็กนักเรียนชั้น ม.1 ถูกฆาตกรรมภายในคอนโดฯนั้นเป็นคดีสะเทือนขวัญคนในสังคมเพราะเกิดขึ้นกับเยาวชนไทย และเมื่อมีการแถลงข่าวการจับกุมคนร้าย กลับกลายเป็นยายแท้ๆ ทำให้คดีพลิกเปลี่ยนเป็นคดีความรุนแรงในครอบครัว จึงยิ่งสร้างความหดหู่ใจให้แก่คนไทยอย่างมาก และเป็นคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนในสังคมทุกวันนี้
       
       การแถลงข่าววันนี้ จึงคลี่ปมของคดีได้อย่างกระจ่างชัด เมื่อสุดท้ายยายแท้ๆ ซึ่งเคยมีคดียิงสามีตัวเองตายมาก่อน เป็นคนที่ฆาตกรรมน้องเบิร์ด หลานในไส้ของตัวเองที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่ 2 ขวบ เนื่องจากพ่อเด็กเสียชีวิตไปแล้ว จึงหักล้างกับคำให้การก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง และยอมรับสารภาพพร้อมหลักฐานมัดตัว คือ ผลการตรวจดีเอ็นเอเส้นผม รวมทั้งการแกะรอยจากรองเท้าแตะของผู้ตายที่ไม่ได้สวมใส่ขณะพบศพ
       
        ความรู้สึกกดดัน บวกกับกลัวการถูกทำร้ายจากหลานชายที่เคยขู่ไว้ จึงพลั้งมือใช้ไม้ทุบศีรษะจนเด็กแน่นิ่งไป ก่อนจะลากไปทิ้งไว้ที่บันไดหนีไฟของอาคาร เพื่อหนีความผิด จึงกลายเป็นอุทาหรณ์สะท้อนใจว่า เรื่องราวโหดร้ายเช่นนี้ไม่น่าเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวเดียวกัน
       
       “ครอบครัว” ต้นเหตุความรุนแรง
        นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ความรุนแรงของคนในครอบครัวที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรก ทุกวันนี้ในสังคมไทยมีแต่ความร้าวฉาน ครอบครัวแตกแยก เกิดการทะเลาะวิวาท ทำร้ายทุบตีกันของคนภายในครอบครัว และกลายเป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน
       
        สมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กล่าวว่า ทุกวันนี้ทักษะในการแก้ปัญหาของคนในครอบครัวโดยไม่ใช้ความรุนแรงยังไม่มี อย่างเช่นกรณีนี้ยายสอนหลาน แล้วหลานไม่ฟัง จึงแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์ด้วยการทำร้ายหลาน เพราะคิดว่าการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง คือทางออกของการยุติปัญหา
       
        “การเกิดความรุนแรงในสังคมเป็นสิ่งที่สั่งสมมาจากความรุนแรงในครอบครัว ที่เกิดขึ้นในครอบครัวเพราะเราไม่มีทางออกในเรื่องเหล่านี้อย่างถูกวิธี ทุกวันนี้เรามีปัญหาในเรื่องความรุนแรงของคนในครอบครัวอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแม่กับลูก พ่อกับลูก และสามีกับภรรยา นี่ยิ่งทะเลาะตบตีกันเยอะมาก ฉะนั้นการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงในสังคมไทยนี้ยังพร่องอยู่ สังคมเรายังให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่น้อย”
       
        เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมไทยแบบนี้ ทั้งยังเกิดขึ้นไม่เว้นวัน จึงกลายเป็นต้นแบบบ่งบอกถึงบุคลิกภาพที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง แต่ทุกวันนี้สังคมไทยมีแต่การใช้ความรุนแรงเข้าหากัน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ จึงไม่มีต้นแบบที่ดีให้เด็กทำตาม
       
        ด้านนายแพทย์ทวีสิน วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตสังคม และโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าการศึกษาพบว่าบุคคลที่ใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่นนั้น เมื่อสืบเสาะในวัยเด็กมักจะพบว่า เคยถูกกระทำรุนแรงมาก่อน ทั้งนี้เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในครอบครัว ได้แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยใหญ่ด้วยกัน
       
        “1. คือมาจากการเลี้ยงดูที่อาจจะเห็นพ่อแม่ใช้ความรุนแรง ทะเลาะเพื่อแก้ปัญหา เด็กจะเรียนรู้และทำตาม 2.คือมาจากคนรอบข้าง สิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน เพื่อนฝูง ซึ่งหากเด็กไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ใช้ความรุนแรงก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมตามกลุ่ม จนเกิดการใช้ความรุนแรงขึ้นมา 3.มาจากสังคม สื่ออย่างละครตบจูบ หรือสื่อที่มีความรุนแรงแฝงอยู่ซึ่งจะส่งผลสองแบบด้วยกันคือ เลียนแบบเลยในทันที กับเก็บไว้ เรียนรู้เป็นข้อมูล เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ความรุนแรงจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่เด็กอาจจะเลือกมาใช้แก้ไขปัญหาได้”
       
        ในส่วนของลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้น เพราะความรุนแรงภายในครอบครัวต่างจากความรุนแรงที่เกิดภายนอก เพราะเกิดขึ้นระหว่างคนใกล้ชิดที่เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ปัญหาในครอบครัวมักจะถูกปกปิดไว้เสมอ รอยแผลที่เกิดขึ้นมักจะอยู่ในเสื้อผ้าที่ผู้คนในสังคมมองไม่เห็น และยากที่จะเก็บข้อมูลศึกษาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เพราะกรณีที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่อย่างฝังลึก
       
        “ที่เห็นกันตามหนังสือพิมพ์เป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง กรณีที่เกิดขึ้นจริงในสังคมอาจจะมีเยอะมาก เพราะประเด็นพวกนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่กระทำต่อลูก ลูกกระทำต่อพ่อแม่ โดยปัญหาที่จะเกิดขึ้นและถูกปกปิดไว้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางร่ายกายและจิตใจ อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งภาวะแบบนี้จะกินระยะเวลายาวนาน โดยมีตัวอย่างหลายครั้งที่พ่อแม่พาลูกมาหาหมอเพราะกระดูดหัก บอกว่าตกบันไดบ้าน อะไรบ้าง บ่อยเข้ามันก็ผิดปกติ แพทย์ก็จะวินิจฉัยได้ว่า มันเกิดอะไรขึ้นในครอบครัว และแจ้งตำรวจ”
       
       ป้องกันไว้ดีกว่าแก้
        การหาหนทางป้องกันที่ต้นเหตุ จึงดีกว่าการมานั่งแก้ไขที่ปลายเหตุ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น สังคมก็ตื่นตระหนกอีกครั้ง ให้ต้องมานั่งทบทวนย้ำคิดถึงช่องโหว่ของสังคมไทย ซึ่งความรุนแรงที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ต่างมีจุดเริ่มมาจากครอบครัวทั้งสิ้น
       
        ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กล่าวว่า ตอนนี้จึงต้องเน้นหนักในเรื่องการแก้ไขปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว เน้นการป้องกันไม่ให้เกิด ขณะนี้เรามีกฎหมายแก้ปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องผู้ถูกกระทำเรื่องความรุนแรงภายในครอบครัว เป็นกฎหมายที่แก้ปัญหาเมื่อเกิดแล้ว แต่เราต้องทำไม่ให้มันเกิดขึ้นเลย
       
        “ผมว่ามันต้องเริ่มตั้งแต่การให้การศึกษา ไม่ใช่เฉพาะการศึกษาภายในโรงเรียน ต้องเกิดจากการเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมด้วย โดยต้องมีการถ่ายทอดร่วมกันตั้งแต่ยังไม่มีครอบครัว จะได้มีการอบรมให้ความรู้การเลี้ยงลูก การดูแลลูกอย่างถูกวิธี ควรทำให้เป็นกิจลักษณะเสียทีในสังคมไทย ด้วยการร่วมมือกันทุกภาคส่วน
       
        ตอนนี้สังคมไทยยังไม่มีการสอนวิธีการแก้ปัญหาที่มีอยู่หลากหลายวิธี จึงต้องเน้นเรื่องนี้ให้จริงจัง ต้องสร้างพ่อแม่มือใหม่ เราหวังว่าเด็กที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้ความรู้แก่พ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้องก่อน เด็กที่เกิดขึ้นจากพ่อแม่ที่ได้รับการอบรม การเลี้ยงดูบุตร การแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี แล้วความรุนแรงของคนในครอบครัวจะลดลงไปเรื่อยๆ ในอนาคต”
       
        เรื่องการป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานร่วมด้วยช่วยกัน แต่ถ้าขาดการเอาใจใส่ที่จะแก้ไขอย่างจริงจังก็จะไม่เป็นผลสำเร็จ สถาบันครอบครัวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องยืนหยัดแข็งขัน ที่จะทำร่วมกัน โดยที่ผ่านมาไม่นานมานี้ในหลายหน่วยงานร่วมทำการอบรมในกลุ่มตัวอย่าง 30 ครอบครัว ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงการติดตามผลในระยะยาว ด้วยความหวังว่าสังคมไทยจะแข็งแรงขึ้น
       
        สมชาย ได้กล่าวเสริมอีกว่า สิ่งเหล่านี้ต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ในคนที่ยังไม่มีครอบครัว ไม่ใช่ว่ามีลูกแล้วค่อยมาศึกษา มันจึงไม่ทัน ต้องให้ความรู้ว่าเมื่อมีครอบครัวแล้วเขาจะพบกับอะไรบ้าง เมื่อมีปัญหาอย่างนี้ ต้องแก้ไขอย่างไร ต้องสอนให้เป็นระบบอย่างนี้ และต้องใช้ความพยายามในการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพราะในสังคมไทยยังมีความรุนแรงค่อนข้างมาก 
       
        หากมองในมุมมองของนักจิตวิทยาที่ต่างออกไป นายแพทย์ทวีสิน กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือเรื่องของจิตวิทยาที่คนไทยยังไม่ยอมรับ หรือไม่ไปพบแพทย์มากนัก อาจเกิดจากโรคสมาธิสั้นซึ่งออกอาการได้ 3 แบบด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในนั้น คืออาการใจร้อน หุนหันพลันแล่น
       
        “โรคนี้เป็นความผิดปกติของสมองซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ หากรีบรักษารู้ว่าเยาวชนเป็นโรคนี้อยู่ การที่เขาจะพัฒนาต่อไปเป็นอาชญากรเด็กก็จะไม่เกิดขึ้น”
       
        “ตัวครอบครัวต้องไม่มีการใช้ความรุนแรง โรงเรียน สังคมรอบข้างต้องคอยดูแลไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น และสังคมก็ต้องร่วมด้วย คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ถ้ามันเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย ครอบครัวซึ่งเราคิดว่าปลอดภัยที่สุด เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ยังไม่สามารถเป็นสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยหรือปกป้องเขาได้ มันก็เป็นเรื่องน่ากลัวที่สุด เขาไม่รู้จะไปพึ่งใคร”
        
       
        “ครอบครัว” หน่วยย่อยเล็กๆ ในสังคม ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม ซึ่งสามารถสะท้อนคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมได้ หากไม่เริ่มต้นป้องกันและแก้ไขที่ครอบครัวตั้งแต่วันนี้ ก็จะกลายเป็นจุดด่างพร้อย จนก่อเกิดเป็นต้นเหตุของความรุนแรงในสังคมต่อไปอย่างเช่นทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น