วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สับปะรดราคาตกต่ำ !!!


   ปิดถนนประท้วงสับปะรดราคาตกต่ำ !!!
เกษตรกรปลูกสับปะรดประท้วงราคาตกต่ำ ผวจ.พิษณุโลก ให้ นายอำเภอนครไทย รับเรื่องมาเจรจาหาทางออก ส่งต่อให้รัฐบาลช่วยแก้ไขด่วน…. (คม ชัด ลึก 12 มีนาคม 2555 )
 
          ถ้าท่านอ่านหนังสือพิมพ์รายวันเป็นประจำก็คงเคยเห็นพาดหัวข่าวลักษณะแบบนี้มาบ้างใช่ไหมครับ สำหรับตัวผมเองยอมรับว่าอ่านเจอข่าวลักษณะนี้มามากจนนับไม่ถ้วนครับ เรื่องแบบนี้พวกเราในฐานะเป็นผู้บริโภคคงไม่รู้สึกเดือดร้อนใช่ไหมครับ อาจจะชอบด้วยซ้ำไปเพราะเราคิดว่าถ้าราคาสับปะรดตกต่ำเราก็จะได้ทานสับปะรดในราคาที่ถูกลง (แต่ผมยังซื้อสับปะรดรถเข็นทานในราคาเท่าเดิม) แต่หากเราเป็นเกษตรกรผู้ปลูกคงไม่มีความสุขถ้าราคาสับปะรดตกต่ำแบบนี้ คำถามที่ตามมาคือแล้วสหกรณ์ในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งซึ่งเคียงคู่เกษตรกรไทยมานานจะมีบทบาทอย่างไรต่อการแก้ปัญหานี้ 
          ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำของบ้านเรานั้นจัดเป็นสิ่งที่มีมานานจนคนไทยส่วนใหญ่เคยชินแล้วว่าปัญหานี้จะต้องเกิดขึ้นทุกปี ไม่พืชตัวใดก็ตัวหนึ่ง หลายคนสงสัยว่าทำไมปัญหาราคาพืชผลตกต่ำจึงแก้ไขไม่ได้สักที ทุกๆปีจะต้องมีข่าวเกษตรกรยกขบวนกันมาปิดถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือหากไม่เป็นไปตามที่เรียกร้องก็จะเทผลผลิตลงบนถนนเพื่อประจานหรือประชดปัญหานั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิคที่มีโจทย์(หรือจำเลย) มากก็ได้ครับ คนแรกคือเกษตรกร ต่อมาก็เป็นพ่อค้าคนกลาง หรือโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องหรือโรงงานแยมสับปะรด และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือผู้บริโภคอย่างเราๆท่านๆ นี่ล่ะครับ เราจะมาลองวิเคราะห์ปัญหานี้ดูว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรรวมถึงหนทางแก้ไขที่อาจเป็นไปได้ครับ
          เกษตรกรส่วนใหญ่มีแนวทางในการตัดสินใจว่าจะปลูกพืชชนิดไหน เมื่อไหร่ โดยจะดูจากราคาของพืชตัวนั้นเป็นหลักครับ เมื่อปีที่แล้วสับปะรดราคาดีเนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังสูงอยู่ ปีนี้เกษตรกรจึงปลูกโดยคาดหวังว่าราคาจะดีเท่ากับหรือมากกว่าปีที่แล้วและโชคไม่ดีที่เศรษฐกิจโลกปีนี้ตกต่ำโดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาหรือแม้แต่ญี่ปุ่นทำให้ความต้องการบริโภคหรือนำเข้าสับปะรดกระป๋องจากประเทศไทยลดลงมากและส่วนหนึ่งมาจากกระแสข่าวที่ว่าโรงงานแต่ละที่ในไทยได้มีการสำรองสับปะรดไว้เป็นจำนวนมาก จากสาเหตุนี้ทำให้คู่ค้าในต่างประเทศมีอำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้นและชะลอการซื้อเพื่อกดราคารับซื้อลงประกอบกับโรงงานแปรรูปต่างก็มีสินค้าคงเหลืออยู่พอสมควรจึงชะลอหรือลดการรับซื้อสับปะรดสดจากเกษตรกรลงไปด้วย ปัจจุบันไทยเราเป็นประเทศที่ส่งออกสับปะรดกระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดราว 50 % ของมูลค่าตลาดสับปะรดโลก ปี 2554 ไทยส่งออกสับปะรดทุกประเภทเท่ากับ 2.61 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,778 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.42 จาก 2.03 หมื่นล้านบาท ในปี 2553 สำหรับปี 2555 นี้ การคาดการณ์ค่อนข้างยากต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสภาพแวดอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีความไม่แน่นอนและผันผวนอยู่ค่อนข้างสูง
          ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า ระหว่างเดือน พ.ค. – มิ.ย. 2555 นี้ ปริมาณความต้องการผลสับปะรดสดของโรงงานแปรรูปทั่วประเทศประมาณ 70,000 ตัน แต่มีผลผลิตสับปะรดสดออกสู่ท้องตลาดถึงประมาณ 100,000 ตัน ทำให้มีผลผลิตตกค้างประมาณ 30,000 ตัน ถึงตอนนี้มองออกแล้วใช่ไหมครับว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ถ้าเราคิดต่อว่าแล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร คำตอบคงมีหลายทางเลือกแต่มีแนวคิดเดียวกันคือ การหาทางระบายผลผลิตออกไปตามช่องทางต่างๆ ให้เร็วและมากที่สุดเพื่อให้ผลผลิตตกค้างในมือเกษตรกรน้อยที่สุด และเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะให้ผลผลิตออกมาอย่างสม่ำเสมอไม่มากเกินไปจนเกินกว่าความต้องการ แต่การจะทำได้นั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีข้อมูลที่จำเป็นและใช้เทคนิคการพยากรณ์ปริมาณสับปะรดล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรับมือตั้งแต่ต้นครับ
          ถ้าเราช่างสังเกตจะเห็นว่าในแต่ละปีสภาพของปัญหาจะคล้ายๆ กัน ผลผลิตทางการเกษตรแต่ละชนิดส่วนใหญ่จะเพาะปลูกตามฤดูกาล เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตส่วนใหญ่จะออกมาพร้อมๆกันและอาจมีมากกว่าความต้องการในตลาดขณะนั้น ถ้าเราไม่สามารถหาตลาดอื่นมารองรับผลผลิตส่วนเกินนั้นได้ก็คงจะเลี่ยงปัญหาราคาตกต่ำได้ยากครับ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ในปี 2554 ที่ผ่านไปนั้น ผลผลิตสับปะรดทั้งประเทศมีจำนวน 2.67 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 จำนวน 7.31 หมื่นตัน หรือร้อยละ 2.82 โดยราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.08 บาท แสดงว่าทั้งประเทศจะมีมูลค่าสับปะรดในตลาดรวมประมาณ 2.67 ล้านตัน x 5.08 บาท เท่ากับ 1.36 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมและรับซื้อสับปะรดทั่วประเทศได้รวบรวม (รับซื้อ) และแปรรูบสับปะรดจากเกษตรกรคิดเป็นมูลค่า 633.60 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.65 ของมูลค่ารวมทั้งประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ยังน้อยมาก สิ่งที่เราน่าจะคิดต่อคือ ทำอย่างไรงมูลค่ารวมทั้งประเทศ ลค่าสับปะรดประมาณ 2.67 ล้านตัน่แล้ว 7.31 หมื่นตันหรือร้อยละ 2.82 าเราไม่สามารถหาตลาดอื่นที่จะมารองรับผลผลสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรจึงจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาผลผลิตล้นตลาดและพยุงราคาสับปะรดไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป
           ถ้าเรามีข้อมูลว่าอีก 1 ปีข้างหน้าจะมีปริมาณสับปะรดออกสู่ท้องตลาดเดือนละกี่ตัน (รู้เขา) เราจะสามารถวางแผนรับมือได้ล่วงหน้าว่าจะหาตลาดมารองรับได้อย่างไรหรือจะระบายสับปะรดไปช่องทางไหนอย่างรวดเร็ว (รู้เรา) เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ผมลองคำนวณด้วยวิธีทางสถิติที่เรียกว่า Exponential Smoothing ซึ่งผ่านการพิสูจน์เปรียบเทียบกับการพยากรณ์ด้วยวิธีอื่นแล้วพบว่ามีความแม่นยำมากที่สุด (คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด) โดยมีความคลาดเคลื่อนเฉลี่ย 9.82 % (ถ้าพยากรณ์จำนวน 100 ก.ก. จะผิดพลาด 9.82 ก.ก.) ต่อการพยากรณ์ 1 ครั้ง (1เดือน) จึงใช้เทคนิคนี้ในการพยากรณ์ปริมาณผลผลิตสับปะรดที่จะออกสู่ท้องตลาดเป็นรายเดือนล่วงหน้า ผลการพยากรณ์ออกมาว่า ผลผลิตสับปะรดจะเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงต้นปีและมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งสหกรณ์สามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจล่วงหน้าได้ครับ
         รูปแสดงการพยากรณ์ปริมาณสับปะรดสดรายเดือนด้วยวิธี Exponential smoothing
โดยใช้ข้อมูลระหว่าง ม.ค. 2548 – ธ.ค. 2554 จำนวน 84 เดือนในการสร้างแบบจำลองพยากรณ์
 
 
              การหาช่องทางการตลาดเพิ่มเพื่อระบายผลผลิตและพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำจำเป็นจะต้องมองให้กว้างกว่าเดิม ปัจจุบันมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐมีเพียงการใช้งบประมาณมารับซื้อผลผลิตส่วนเกินซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวรัฐบาลคงไม่สามารถทำแบบนี้ได้ทุกปี เนื่องจากเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตหรือพัฒนาตลาดใหม่ๆ ดังนั้น นอกจากตลาดภายในประเทศแล้วการแสวงหาตลาดภายนอกประเทศเป็นสิ่งที่สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรควรให้ความสนใจและศึกษาให้มีความรู้มากพอที่จะก้าวข้ามพื้นที่ธุรกิจเดิมออกไปสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ซึ่งขอสรุปแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ดังนี้
             สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรควรเพิ่มการแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจ หรือองค์กรเป้าหมายเพื่อใช้เป็นช่องทางระบายผลผลิต เช่น สหกรณ์เครือข่ายต่างพื้นที่ ต่างภูมิภาค หรือต่างประเทศ โดยในระยะแรกรัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยการจัดกิจกรรมแสดงสินค้าในพื้นที่หรือประเทศกลุ่มเป้าหมาย เพื่อส่งเสริม ประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักตลอดจนสร้างความร่วมมือเป็นคู่ค้าระหว่างสหกรณ์ด้วยกันหรือกับองค์กรธุรกิจอื่นในอนาคต เมื่อสหกรณ์ทราบปริมาณผลผลิตและความต้องการล่วงหน้าของแต่ละตลาดจะทำให้รับซื้อและระบายผลผลิตส่วนเกินได้อย่างทันท่วงที หรือแม้แต่การแปรรูปผลผลิตนั้นเป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีตลาดรองรับที่แน่นอน เช่น สหกรณ์ของไทยอาจตกลงทางการค้ากับสหกรณ์ในประเทศจีน พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรไทยในราคาหรือเงื่อนไขที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่ายซึ่งจะทำให้มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอนจนเกิดความมั่นคงในอาชีพและช่วยลดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำต่อไป
              บทสรุป กระบวนการแก้ปัญหานี้ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จหากเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการบูรณาการความรู้สาขาต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น หลักการสหกรณ์ สถิติ เศรษฐศาสตร์ การตลาด และการเจรจาทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหกรณ์ซึ่งปัจจุบันนับว่ามีศักยภาพเพียงพอในระดับหนึ่งที่จะรองรับหรือสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกันคือการแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและนำไปสู่การสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพเกษตรกรรมของคนไทยในอนาคตต่อไป
 
               แหล่งข้อมูล :
                      กลุ่มวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจสหกรณ์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
                      สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
                      สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
                      หนังสือพิมพ์รายวัน คม ชัด ลึก ฉบับ วันที่ 12 มีนาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น