วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 3 “เย้! รถมาแล้ว ไปรับรถกันเถอะ”



“เปลี่ยนโลกใบเดิมที่เคยคุ้นตา ให้มันยิ่งน่าค้นหา
หยุดชีวิตจำเจที่ผ่านมา
มากมายสิ่งที่งดงาม เติมแต่งให้มันดียิ่งกว่า
สุขกว่าครั้งเดิมเดิม แค่วันที่เราได้พบกัน”

“ฮัลโหล”
“สวัสดีครับพี่ ผมจะโทรมาแจ้งว่า Almera ของพี่มาแล้วนะครับ พี่จะสะดวกรับรถวันไหนครับ?”
“กรี๊ดดดดด ขอไปดูฤกษ์ก่อนค่า”

อยากเจอเหตุการณ์แบบนี้แล้วใช่ไหมครับ?
ณ เวลานี้ หลายท่านผ่านเหตุการณ์นี้ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายท่านที่ยัง“รอ”ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับตัวเอง
เพราะการรับรถใหม่ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ ครับ โดยเฉพาะรถคันแรก หลายคนคงตื่นเต้นจนนอนไม่หลับเลยทีเดียว
ผมเองเคยผ่านเหตุการณ์นี้มาแล้ว รู้ดีว่ามันตื่นเต้นมากมายเพียงใด อะไรที่ท่องจำเอาไว้ จะลืมจนหมดสิ้น T_T

สำหรับรีวิวในตอนที่ 3 นี้ ผมจะอาสาพาเพื่อน ๆ มาลองรับรถ Almera กัน เผื่อถึงวันจริง เพื่อน ๆ จะได้รับรถได้อย่างสบาย ๆ ไร้กังวล

ก่อนวันรับรถ
เมื่อเพื่อน ๆ ได้รับโทรศัพท์จากเซลล์ ว่ารถ Nissan Almera คู่ใจมานอนรออยู่ที่โชว์รูมแล้วนั้น เพื่อน ๆ จะต้องให้เซลล์แจ้งเอกสารที่ต้องใช้ในวันรับรถ รวมถึงรายละเอียดค่าใช้จ่ายและจำนวนเงินที่ต้องใช้ในวันออกรถ เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้เตรียมเอกสารและเงินทองให้เรียบร้อยก่อนวันไปรับรถ
สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ในวันรับรถ เพื่อน ๆ ควรเตรียมให้พร้อมก่อนวันรับรถจริงนะครับ ไม่งั้นความตื่นเต้นจะทำให้เพื่อน ๆ หาเอกสารไม่เจอ
ส่วนรายละเอียดค่าใช้จ่ายในวันออกรถ เพื่อน ๆ ควรให้เซลล์แฟกซ์หรืออีเมล์รายละเอียดมาให้ครบถ้วน ว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง? ซึ่งเพื่อน ๆ ควรตรวจสอบให้ดี ว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละจุด ถูกต้องตรงกันตามที่ตกลงไว้หรือไม่?
เช่น ถ้าซื้อเงินผ่อน ต้องดาวน์ 20% ก็ควรตรวจจำนวนเงินให้ดี ว่าอยู่ในอัตรา 20% จริงหรือไม่? แล้วอัตราดอกเบี้ยที่ทำสัญญาไว้ กับจำนวนงวดที่ต้องผ่อน ตรงกันหรือไม่? ถ้าไม่ตรงก็ควรรีบทักท้วงทันที
(โดยปกติ ในส่วนสัญญาเงินผ่อน จะมีการเซ็นสัญญาก่อนวันรับรถจริงครับ)
และถ้าจะว่าไป ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในวันออกรถมีค่อนข้างหลากหลาย มากมายแล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละบุคคล แต่ผมอยากจะมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังในค่าใช้จ่ายสำคัญ ๆ 2 – 3 อย่างครับ

ค่ามัดจำป้ายแดง


โดยทั่วไป โชว์รูมจะเรียกเก็บเงินค่ามัดจำจากเราประมาณ 2,000 – 3,000 บาท แล้วแต่อารมณ์เจ้าของ 55555+ ล้อเล่นครับ ผมหมายถึงไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว เพราะโชว์รูมจะต้องบริหารความเสี่ยงของตัวเอง เนื่องจากป้ายแดงนั้น ถือว่าเป็นทรัพย์สินของโชว์รูมนั้น ๆ ไปแล้ว ที่ต้องดูแลรักษา หลังจากเสียค่าธรรมเนียมราคาแพงจ่ายกรมขนส่งทางบกไป เพื่อนำมาให้ลูกค้าตัวเองผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนกันใช้งาน
ซึ่งเงินก้อนนี้ เพื่อน ๆ จะได้คืน เมื่อรถจดทะเบียน และเปลี่ยนจากป้ายแดงเป็นป้ายขาวเรียบร้อยแล้ว
แต่ถ้าเซลล์แจ้งเพื่อน ๆ ว่า ไม่มีค่ามัดจำป้ายแดง แสดงว่า ป้ายแดงแท้ของศูนย์ไม่มี มีแต่ป้ายแดงปลอม ซึ่งถือว่าผิดกฏหมายนะครับ ตำรวจสามารถจับ-ปรับท่านได้ทันที ดังนั้น เพื่อน ๆ จะต้องขอป้ายแดงแท้มาให้ได้ครับ
อย่างศูนย์นิสสันแห่งหนึ่งที่ผมออกรถ ก็แจ้งว่าป้ายแดงแท้หมด เพราะรถขายดี ลูกค้ารับรถไปเยอะ จึงยังไม่ได้นำป้ายมาคืน แต่เมื่อผมแจ้งความประสงค์ว่า ผมไม่รับป้ายแดงปลอม ทางศูนย์นิสสันแห่งนี้ ก็ดำเนินการหาป้ายแดงแท้ใหม่เอี่ยมจากกรมขนส่งมาให้ทันที
ต้องแบบนี้ครับ กับการบริการที่ถูกต้อง
————————-

ค่าจดทะเบียนรถ
โดยปกติ ถ้าเราซื้อเงินสด เราสามารถไปจดทะเบียนเองได้ครับ โดยมีค่าใช้จ่ายดังนี้
- ค่าภาษีคิดตามความใหญ่ของเครื่องยนต์ 1,197 บาท
- ค่าคำขอ 5 บาท
- ค่าตรวจสภาพรถ 50 บาท
- ค่าแผ่นป้าย 200 บาท
- ค่าสมุดคู่มือ 100 บาท
รวมค่าใช้จ่าย 1,552 บาท
แต่เพื่อน ๆ สงสัยไหมครับ ทำไมเซลล์แจ้งค่าจดทะเบียนรถถึง 2,500 บาท บางรายก็แจ้ง 3,000 บาท
นั่นคือ เค้าชาร์ตค่าบริการครับ!!
และแน่นอน การที่ให้ทางศูนย์ไปจดทะเบียนให้ มักจะได้ป้ายขาวช้ามาก เหตุผลก็คือ ทางศูนย์มักจะรอให้มีจำนวนรถที่จะนำไปจดทะเบียนเยอะพอสมควร แล้วนำไปจดทะเบียนพร้อมกันทีเดียว เพื่อประหยัดต้นทุนการดำเนินการนั่นเองครับ
ต่างกับการนำรถไปจดทะเบียนด้วยตัวเอง เพื่อน ๆ จะได้ป้ายขาวและเล่มทะเบียนมาในวันเดียวเลย


แต่ต้องแลกด้วยการเสียเวลาติดต่อ นำรถไปตรวจสภาพด้วยตัวเองที่กรมขนส่ง ซึ่งก็คงต้องคิดเอาเองครับ ว่าวิธีไหนจะคุ้มกว่า?

แต่ถ้าเพื่อน ๆ ไม่ได้ซื้อเงินสด แต่ใช้บริการไฟแนนซ์ การนำรถไปจดทะเบียนทำเองได้ไหม? ทำได้ครับ แต่จะยุ่งยาก เพราะรถเป็นของไฟแนนซ์ เค้าต้องออกเอกสารมอบอำนาจมาให้เรา และเมื่อเราไปดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องเอาเล่มทะเบียนและเอกสารอื่น ๆ มาคืนไฟแนนซ์อีกรอบหนึ่ง
ซึ่งในกรณีนี้ ไฟแนนซ์มักไม่ค่อยยอมให้เราไปง่าย ๆ เพราะนั่นหมายถึงเค้าจะสูญเสียค่าบริการที่สามารถชาร์ตจากเราได้อย่างน้อยก็เกือบ 1,000 บาทขึ้นไปต่อคัน
ซึ่งในกรณีนี้ ผมว่า ไม่คุ้ม ยกเว้น เพื่อน ๆ อยากนำรถไปจดทะเบียนข้ามจังหวัด เช่น ซื้อที่ต่างจังหวัด แต่อยากได้ทะเบียนกรุงเทพ แล้วทางไฟแนนซ์ไม่ยอมมาจดให้ หรือ คิดค่าบริการที่แสนโหดร้าย เพื่อน ๆ ก็ควรไปทำเรื่องขอดำเนินการจดทะเบียนด้วยตัวเองจะดีกว่าครับ เพราะรถ Eco Car เวลาขับไปต่างจังหวัดนะ ค่าน้ำมันถูกกว่าเดินทางด้วยรถสาธารณะมากมายครับ แถมได้ความสะดวกสบาย และความอิสระอีกต่างหาก


———————————

ค่า พ.ร.บ.
เพื่อน ๆ คงเคยเห็นร้านค้าจำนวนมากติดป้ายกันให้เกลื่อนว่า “รับทำ พ.ร.บ.”
แล้วเจ้า พ.ร.บ. คืออะไรละ?
พ.ร.บ. ย่อมาจาก พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งทางรัฐได้“บังคับ”ให้รถทุกคันต้องทำ เพื่อคุ้มครองบุคคลที่ 3 4 5 6 7 8 9 อะไรก็ว่าไป ที่ประสบเหตุจากรถยนต์ของเรา
ซึ่งโดยปกติ ภาษาทางการ เราจะเรียก พ.ร.บ. ว่า “ประกันภัยภาคบังคับ”
ส่วน“ประกันภัย” ชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 3 หรือจะมีเลือดบวกอย่าง 2+ หรือ 3+ อะไรก็ตามแต่ เป็นประกันที่รัฐ“ไม่ได้บังคับ”ให้เราทำ เราจะทำหรือไม่ก็ได้ เพราะประกันชั้น 1 2 3 เหล่านี้ คือการคุ้มครองบุคคลที่ 1 และ 2 นั่นคือ รถเรากับคู่กรณีของเรานั่นเอง ตามแต่จะทำประกันชั้นไหน เท่านั้นเอง ซึ่งปัจจุบันมีรายละเอียดการคุ้มครอง และเบี้ยประกันแตกต่างกันไปตามแต่ทางบริษัทประกันจะกำหนด
และเช่นกัน ถ้าเป็นภาษาทางการ เราจะเรียก ประกันภัยชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 3 ว่า “ประกันภัยภาคสมัครใจ”
แต่สิ่งที่เพื่อน ๆ ต้องรู้คือ ถ้าเพื่อน ๆ ซื้อรถแบบผ่อนกับบริษัทไฟแนนซ์ทั้งหลาย เพื่อน ๆ จะถูกบังคับให้ทำประกันภัยชั้น 1 เท่านั้น ในปีแรกปีเดียว
ส่วนปีถัดไป ก็ตามสมัครใจครับ จะทำชั้น 1 หรือชั้น 2 ชั้น 3 ได้หมด
แต่ถ้าเพื่อน ๆ ซื้อรถเงินสด เพื่อน ๆ ก็มีสิทธิเลือกตั้งแต่ปีแรก จะทำหรือไม่ก็ได้ จะทำชั้นไหนก็ได้ ตามใจเลย

ซึ่งค่าใช้จ่ายของ พ.ร.บ. นั้น จะมีอัตราเดียวนะครับ นั่นคือ
- เบี้ย พ.ร.บ. 600 บาท
- ค่าภาษีและอากร 45.21 บาท
รวม 645.21 บาท ซึ่งโดยทั่วไป เซลล์จะแจ้งยอดมาว่า 646 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอัตราปกติ
แต่ถ้าเพื่อน ๆ เจอค่า พ.ร.บ. แพงกว่านี้ อย่าไปยอมนะครับ แสดงว่าโดนชาร์ตเอาดื้อ ๆ เลย

ส่วนค่าใช้จ่ายของการประกันภัยชั้นต่าง ๆ นั้น มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ทั้งจำนวนทุนเอาประกัน หรือเรียกอีกอย่างว่า “วงเงินประกัน” รวมถึงรุ่นของรถ , บริษัทที่จำหน่าย ฯลฯ จะทำให้ราคาเบี้ยไม่เท่ากัน ดังนั้น จะไม่มีราคามาตรฐานเหมือน พ.ร.บ. ครับ
———————–

เบื้องต้น เพื่อน ๆ คงพอทราบเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไปบ้างแล้ว ทีนี้เมื่อเพื่อน ๆ รู้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายในวันรับรถจากเซลล์ และได้ตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ผมอยากแนะนำเพื่อน ๆ ทุกคนก็คือ “ไม่ควรถือเงินสดไปชำระ”ครับ เหตุผลคือ
1.ลดความเสี่ยงจากการถูกจี้ปล้นระหว่างทาง
2.ลดภาระและความเสียเวลาของการนับเงินที่โชว์รูม รวมถึงลดความเสี่ยงที่มีการยักยอก และพบว่า จำนวนเงินสดขาดหายไป
แล้วจะทำยังไง?
ผมแนะนำว่า เพื่อน ๆ ควรไปที่ธนาคาร แล้วไปซื้อแคชเชียร์เช็คซะ ในกรณีที่โชว์รูมรถกับธนาคารที่เพื่อน ๆ ไปซื้อรถอยู่จังหวัดเดียวกัน (ภาษาการเงินเรียกว่า เขต clearing เดียวกัน)


แต่ถ้าอยู่คนละจังหวัด แนะนำให้ซื้อเป็นดราฟท์แทนครับ เพราะจะประหยัดค่าธรรมเนียมมากกว่า
การซื้อตราสารทางการเงินทั้ง 2 รูปแบบนั้น เพื่อน ๆ ควรสอบถามทางเซลล์ว่า ให้สั่งจ่ายที่ชื่ออะไร ซึ่งผมขอย้ำว่า ต้องเป็นชื่อ“บริษัท” หรือ “นิติบุคคล” เท่านั้น!!
ไม่ควรสั่งจ่ายเป็นชื่อบุคคล ไม่ว่าจะเป็นชื่อเซลล์ หรือผู้จัดการก็ตามแต่ เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกโกงเงินได้ครับ
ค่าธรรมเนียมในการซื้อแคชเชียร์เช็ค หรือดราฟท์นั้น ประมาณ 10 – 25 บาท หรือมากกว่านี้นิดหน่อย ขึ้นอยู่กับอัตราในแต่ละธนาคาร ซึ่งผมว่ามันคุ้มมากกับการลดความเสี่ยงตามที่ผมได้บอกไปแล้วด้านบนครับ
และเมื่อเพื่อน ๆ ได้เตรียมเอกสารทั้งหมดและตราสารทางการเงินเรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมที่จะไปรับรถตามฤกษ์แล้วครับ
—————————–
วันรับรถ
ผมแนะนำว่า ในวันรับรถ ควรเดินทางไปก่อนฤกษ์งามยามดีที่ดูไว้ว่าจะออกรถอย่างน้อยสัก 1 ชั่วโมงครับ เพื่อดำเนินการทางเอกสาร และตรวจความเรียบร้อยของเจ้า Almera
แต่ถ้ากลัวว่าจะทำไม่ทัน จะไปก่อนสักครึ่งวันก็ไม่มีใครว่านะครับ 55555+

ในเรื่องเอกสาร คงเป็นหน้าที่ของเซลล์นะครับ ผมคงแนะนำอะไรมากไม่ได้ นอกเสียแต่ว่า ควรอ่านข้อความให้ดี ๆ ก่อนจะเซ็นชื่อนะครับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเราเอง
แต่ผมจะพาเพื่อน ๆ เริ่มตรวจสอบง่าย ๆ สไตล์ผมเช่นเคยครับ ไปกันเลยดีกว่าเนอะ

ป้ายแดง
อย่างที่ผมเล่าให้ฟังไปก่อนหน้านี้ ว่าเพื่อน ๆ ต้องได้ป้ายแดงแท้เท่านั้น ซึ่งเราตรวจสอบได้จากคำว่า “ขส” ในวงกลมเล็ก ๆ ที่มุมล่างขวาของป้ายแดงครับ


และป้ายแดงแท้ ย่อมมาพร้อมกับสมุดคุมทะเบียนของกรมขนส่งครับ


ซึ่งเพื่อน ๆ ต้องเขียนรายการใช้รถลงไปทุกครั้งนะครับ ในระหว่างการใช้รถป้ายแดง ไม่ว่าจะขับรถไปไหนก็ตาม เพราะถ้าเจอพี่ตำรวจเรียกตรวจ แล้วไม่ได้เขียนลงไป อาจจะโดนใบสั่งได้นะครับ


และไม่ว่าเพื่อน ๆ จะเลือก Almera รุ่นไหน เพื่อน ๆ ก็จะได้กุญแจแตกต่างกันออกไปตามแต่ละรุ่น


โดยไม่ว่าจะได้กุญแจรุ่นไหน ก็จะได้กุญแจ 2 ดอก พร้อมเพลทกุญแจนะครับ


อ๋อ ยกเว้นรุ่น V CVT จะได้กุญแจรีโมท 1 ดอก และกุญแจสำรองอีก 1 ดอกนะครับ


มาดูตัวเพลทกันครับ ซึ่งจริง ๆ จะมีตัวเลขระบุอยู่ แต่ผมขออนุญาตให้ชมอีกด้านนึง เพื่อความปลอดภัยครับ

ซึ่งเจ้าเพลทตัวเล็ก ๆ นี่ ผมแนะนำให้แยกเอาไปเก็บไว้ต่างหากในบ้าน เพราะเวลากุญแจมีปัญหา เช่น กุญแจเสีย / กุญแจหาย ก็นำเจ้าเพลทตัวนี้ไปที่ศูนย์บริการของ Nissan เพื่อขอรับทำกุญแจใหม่ได้ครับ

มาถึงสมุดคู่มือ อันนี้สำคัญมาก เพราะเอาไว้ศึกษาการใช้รถ Almera ของเราครับ


สมุดรับประกันและการบำรุงรักษา เจ้าเล่มนี้เอาไว้เวลาไปเข้าศูนย์ หรือ เช็คระยะครับ ให้นำติดรถไว้เลย


กระป๋องสี
เจ้ากระป๋องสีเล็ก ๆนี้ ทางโรงงานให้มาเพื่อเอาไว้แต้มรอยต่าง ๆ ได้นะครับ เวลารถเรามีรอยขีดที่ทำให้สีหายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถหาปากกาแต้มสีมาแต้มลงไปได้ครับ
ส่วนอีกด้านของกระป๋องสี จะระบุประเภทสี ซึ่งเพื่อน ๆ ต้องดูว่า สีที่กระป๋อง ตรงกับสีรถของเจ้า Almera ด้วยนะครับ ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ รับรถมาแล้วสีไม่ตรงกับรถ ให้รีบแจ้งเซลล์ก่อนรับรถเลยครับ
รหัสสี Nissan Almera
1.KAC – สีน้ำตาลเทา
2.K23 – สีเงิน
3.G42 – สีดำ
4.QMI – สีขาว
5.AX6 – สีแดง
6.RAA – สีน้ำเงิน

บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง 3 ปี

บริการนี้ ทางนิสสันได้มอบให้กับเจ้าของ Nissan Almera ทุกรุ่น ทุกคันนะครับ โดยเวลาเรามีปัญหาอะไรเกี่ยวกับรถ ก็โทรไปที่เบอร์นี้ได้เลยครับ 02-305-8432 ไม่ต้องเกรงใจครับ เพราะถ้าเลย 3 ปีไปแล้ว หมดสิทธิโทรแล้วนะครับ
บริการทั่วไป ก็เช่น ขับ ๆ อยู่น้ำมันหมดบ้าง ยางแตกบ้าง สตาร์ทเครื่องไม่ติดบ้าง ก็เรียกใช้ได้ทันทีครับ ซึ่งเงื่อนไขการให้บริการเค้าก็จะระบุไว้ให้ในเอกสารนี้แหล่ะ เอาติดรถไว้อ้างอิงได้นะครับ
ซึ่งผมทราบมาว่าแม้แต่ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างวิธีเปิดฝากระโปรงหน้า ก็มีสาว ๆ โทรไปขอใช้บริการกันด้วย ดังนั้น เค้าให้สิทธิเรามา ก็ใช้ให้คุ้มนะครับ
แต่จะว่าไป ถ้าสาว ๆ อ่านรีวิวของผมจบ แล้วยังเปิดฝากระโปรงหน้าไม่เป็น ผมก็ต้องพิจารณาตัวเองแล้วนะครับ 55555+
—————————-
หลัก ๆ ก็มีเพียงเท่านี้ครับ ที่เพื่อน ๆ ทุกคนต้องได้รับเหมือนกัน นอกเหนือจากนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไขของแต่ละคนแล้วนะครับ

ถึงเวลาไปดูรถกันแล้วครับ

ซึ่งโดยปกติ เซลล์จะนำใบรับและส่งมอบรถยนต์มาให้เพื่อน ๆ ตรวจสอบความเรียบร้อย โดยในใบจะมีรายละเอียดอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ควรตรวจสอบเยอะมาก ซึ่งเพื่อน ๆ ก็ลองตรวจสอบเท่าที่จะทำได้แล้วกันครับ
แต่ผมจะบอกว่า ใบพวกนี้มักจะทำมาเป็นกลาง ๆ ใช้กับรถทุกรุ่น ตั้งแต่รถจักรยานยันรถบรรทุก ดังนั้น มาตรวจสอบง่าย ๆ สไตล์ผมดีกว่าครับ
เริ่มที่ด้านหน้าก่อน

- อย่างแรกคือไล่ดูสีภายนอกไปให้ทั่ว ว่ามีตรงจุดไหนบกพร่องไหม
- ดูป้ายทะเบียน ว่าแท้หรือไม่ ด้วยการดูสัญลักษณ์ “ขส” ที่มุมล่างขวาตามที่บอกไปก่อนหน้านี้ และการติดตั้งป้ายทะเบียนกับกรอบป้ายแน่นหนาดีหรือเปล่า?
- ลองก้มลงดูด้านล่าง ว่ามีอะไรผิดปกติไหม เพราะเราไม่ใช่ช่าง ดังนั้น แค่มอง ๆ ดูว่ามีอะไรห้อยลงมาแบบแปลก ๆ ไหม หรือมีสนิมติดตรงไหนหรือเปล่า ซึ่งถ้าสงสัยตรงจุดไหน ก็ถามเซลล์ได้ทันทีครับ
ด้านหน้าเรียบร้อยแล้ว มาต่อที่หลังคาเลยครับ
จะเจอกับเสาวิทยุยาว ๆ แบบนี้ ซึ่งสามารถถอดออกได้ ด้วยการหมุนเกลียว แต่ไม่สามารถปรับขึ้น-ลงได้ เพื่อน ๆ ลองหมุนดูนะครับว่าแน่นดีหรือไม่ จะได้ไม่หลุดหายไปตอนขับรถกลับบ้าน

จากด้านบน ลงมาด้านข้าง นอกจากสีรถที่ควรไล่ดูให้ทั่วแล้ว สิ่งที่ควรทำคือลองเปิด และปิดประตูทุกบานครับ ว่าเปิด-ปิดได้ตามปกติหรือไม่? มีบานไหนที่เสียงแปลก ๆ ไปกว่าบานอื่นไหม จะได้ให้ทางศูนย์แก้ไขได้ทัน


และสิ่งสำคัญที่ต้องตรวจสอบคือ ยางครับ
ถ้าเพื่อน ๆ ออกรุ่น S MT , E MT , E CVT และ ES CVT จะได้ยางแบบนี้นะครับ

เป็นยางยี่ห้อ Bridgestone รุ่น B250 ครับ


ขนาดของยางคือ 175/70R14 ซึ่งตัวเลขพวกนี้จะบอกขนาดของยางนั่นเองครับ ว่ามีความกว้าง ความสูง และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าไหร่

สำหรับยางรุ่นนี้ ถ้าดูจาก spec แล้ว สามารถรองรับการวิ่งได้เร็วสุดที่ 210 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงครับ

ทีนี้ตัวเลขสำคัญที่ผมอยากให้ดูก็คือ วันที่ผลิตยาง

ตัวเลขนี้สำคัญนะครับ เพราะถ้ายางผลิตมานานแล้ว อายุการใช้งานจะน้อยลง ซึ่งแน่นอน มันอันตรายมาก ๆ ครับ กับอุปกรณ์ที่สัมผัสพื้นถนนตลอดเวลา
แล้วดูอย่างไรละ?
ยางทุกเส้นจะระบุตัวเลข 4 ตัวนี้นะครับ อย่างยางเส้นนี้คือ 2411
2 ตัวแรก = สัปดาห์
2 ตัวหลัง = ปี ค.ศ.
นั่นหมายความว่า ยางที่ติดรถ Nissan Almera คันนี้ ผลิตในสัปดาห์ที่ 24 ปี 2011
ซึ่งสัปดาห์ที่ 24 คือช่วงวันที่ 5 – 11 มิถุนายน 2011 หรือ 2554 นั่นเอง

แต่ถ้าเพื่อน ๆ ออกรุ่น V และ VL ก็จะได้ยางแบบนี้ครับ


ซึ่งก็คือยางรุ่นเดียวกันนั่นแหล่ะ แต่ขนาดของยางไม่เท่ากัน

โดยรุ่น V และ VL จะได้ยางขนาด 185/65R15 ครับ ซึ่งตาม spec จะรับน้ำหนักได้ดีกว่ายางของ S MT – ES CVT ครับ แต่ความเร็วสูงสุดที่ยางรับได้เท่าเที่ยมกันคือ 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

มาดูวันที่ผลิตยางกัน

ของคันนี้ได้สัปดาห์ที่ 32 คือช่วงวันที่ 1 – 6 สิงหาคม 2011 ครับ
เบื้องต้นก็พยายามดูวันที่ผลิต อย่าให้นานกว่าวันที่เรารับรถมากนะครับ ถ้าห่างกันไม่กี่เดือนยังถือว่าปกติครับ แต่ถ้าเกินปีแล้ว ไม่แนะนำให้รับรถครับ
อีกอย่าง เวลาเพื่อน ๆ ไปเปลี่ยนยางใหม่ตามร้านต่าง ๆ เช่น เปลี่ยนล้อ Mag ใหม่พร้อมยาง หรือเปลี่ยนยางตามระยะปกติ ให้ขอดูเลขนี้กับร้านค้าก่อนนะครับ เพื่อความมั่นใจว่าเราจะได้ยางใหม่จริง ๆ
และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ตรวจให้ครบทั้ง 4 ล้อด้วยนะครับ
————————
ของแถมและอุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติม

ถ้าเพื่อน ๆ ได้ของแถมจากเซลล์ หรือสั่งของแต่งเพิ่มเติม ก็ตรวจตราให้ครบนะครับ อย่าให้ขาดแม้แต่ชิ้นเดียว
ยกเว้น เซลล์แจ้งว่า ด้วยเหตุจากภาวะน้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้โรงงานผลิตของแต่งประสบปัญหา ของยังไม่มาส่ง ให้เรามารับทีหลัง ก็ควรขอให้เซลล์เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และเซ็นชื่อกำกับด้วยนะครับ เพื่อน ๆ จะได้มั่นใจได้ว่า ของแต่งหรือของแถมได้ครบถ้วนแน่นอน
สำหรับการตรวจรับรถภายใน ผมจะขอยกยอดไปในตอนหน้านะครับ เพราะการตรวจสอบอุปกรณ์ภายใน ย่อมควบคู่ไปกับการเข้าใจ และใช้งานจริงอุปกรณ์เหล่านั้น เพราะถ้าเพื่อน ๆ ใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นไม่ถูก เงิน 6 หลักที่จ่ายไป ผมเกรงว่าจะไม่คุ้มค่านะครับ

ตอนที่ 2 “นิสสัน อัลเมร่าแต่ละรุ่น แตกต่างกันอย่างไร?”



Nissan Almera มีตั้ง 6 รุ่น รุ่นไหนดีละ?
เป็นคำถามยอดฮิตเลยครับสำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจ Almera ว่า รุ่นไหน ที่จะคุ้มค่ามากที่สุด?
สำหรับราคารถ และส่วนลดเงินอุดหนุนสำหรับรถคันแรก ดูได้ที่ราคารถ NISSAN ALMERA และส่วนลดเงินอุดหนุนสำหรับรถคันแรกเลยครับ
Nissan Almera มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 รุ่น 6 สีครับ
1. S MT มี 3 สี คือ เงิน , ดำ , ขาว
2. E MT มี 6 สี คือ เงิน , ดำ , ขาว , แดง , น้ำเงิน , น้ำตาลเทา
3. E CVT มี 6 สี คือ เงิน , ดำ , ขาว , แดง , น้ำเงิน , น้ำตาลเทา
4. ES CVT มี 6 สี คือ เงิน , ดำ , ขาว , แดง , น้ำเงิน , น้ำตาลเทา
5. V CVT มี 6 สี คือ เงิน , ดำ , ขาว , แดง , น้ำเงิน , น้ำตาลเทา
6. VL CVT มี 6 สี คือ เงิน , ดำ , ขาว , แดง , น้ำเงิน , น้ำตาลเทา
ซึ่งเพื่อน ๆ ที่ดูสเปครถเป็น สามารถดูความแตกต่างได้ที่โบรชัวร์นะครับ โดยเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ โบรชัวร์ , อุปกรณ์มาตรฐาน และข้อมูลทางเทคนิค NISSAN ALMERA
แต่ถ้าเพื่อน ๆ ที่ดูไม่เป็น และงงงวยกับตัวอักษรภาษาอังกฤษว่ามันคืออะไรนั้น ตามผมมาเลยครับ
———————–
แยกเกียร์กันก่อน
เพื่อน ๆ สังเกตเห็นตัวอักษรด้านท้ายของแต่ละรุ่นไหมครับ ที่เขียนว่า MT กับ CVT
นี่แหล่ะ คือ การระบุเกียร์อย่างชัดเจน ว่ารุ่นไหน ใช้เกียร์อะไร
MT ย่อมาจาก Manual Transmission หรือแปลง่าย ๆ ว่า “เกียร์ธรรมดา” บ้างก็เรียกว่า“เกียร์กระปุก”
ส่วน CVT ย่อมาจาก Continuously Variable Transmission หรือที่เข้าใจง่าย ๆ ว่า “เกียร์ออโต้”
แต่จริง ๆ แล้ว เกียร์ CVT กับ เกียร์ออโตนั้น มีความแตกต่างกันนะครับ อย่างเกียร์ออโต้ทั่ว ๆ ไป จะเหมือนเกียร์ธรรมดา ตรงที่มีตำแหน่งเกียร์ชัดเจน เช่น เกียร์ 1 / เกียร์ 2 / เกียร์ 3
แต่เกียร์ CVT มัน ไม่มีตำแหน่งเกียร์ระบุครับ นั่นหมายถึง อิสระในการใช้เกียร์จริง ๆ ไม่ต้องถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ


และในเมื่อเกียร์ CVT ไม่มีตำแหน่งตายตัว การเปลี่ยนเกียร์จึงนุ่ม จนไม่รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนเกียร์ เหมือนในเกียร์ออโต้ทั่ว ๆ ไปครับ
แต่รายละเอียดของเกียร์ CVT เดี๋ยวผมจะมาเจาะลึกอีกทีในตอนต่อ ๆ ไปนะครับ ตอนนี้เรามาต่อเรื่องรุ่นกันก่อน

เมื่อแยกเกียร์ได้แล้ว ก็จะพบว่า
เกียร์ธรรมดา
1. S MT
2. E MT
เกียร์ CVT 
1. E CVT
2. ES CVT
3. V CVT
4. VL CVT
นั่นเท่ากับว่า เกียร์ธรรมดามีให้เลือกแค่ 2 รุ่นเท่านั้น คือ S MT กับ E MT
ซึ่ง S เป็นรุ่นที่เรียกว่า “รุ่นพื้นฐาน” ตัดความสะดวกสบายออกไปทั้งหมด เรียกว่าถ้า ตัดแอร์ออกไป แล้วใส่โรลบาร์ ก็คือ รถแข่งดี ๆ นั่นเอง 55555+
ซึ่งส่วนใหญ่ เพื่อน ๆ ที่ชอบขับรถเกียร์ธรรมดา จะมีตัวเลือกแค่ตัวเดียว คือ E MT เท่านั้น
และผมจะบอกว่า E MT กับ E CVT ทุกอย่างเหมือนกันหมด ยกเว้น“ระบบเกียร์” เท่านั้นเอง

ส่วนเกียร์ CVT มีมากมายถึง 4 รุ่น ให้เลือกสรร ตามงบประมาณและความสะดวกสบาย รวมถึงความปลอดภัย
เพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาดูความแตกต่างแบบ“คร่าว ๆ” กันเลยดีกว่าครับ ว่าแต่ละรุ่นแตกต่างกันอย่างไร?

เริ่มที่ด้านหน้าครับ
สำหรับด้านหน้า รุ่น S MT จะพิเศษกว่าเพื่อนตรงที่ ขอบกระจังหน้ารูปคางหมูจะเป็นสีดำครับ และกระจกมองข้างจะเป็นสีดำด้าน
(สำหรับรูป S MT ผมขอยืมรูปรถคุณ obetwo สมาชิก Thai Almera Club มาประกอบนะครับ เนื่องจากผมไม่มีโอกาสได้ถ่ายรูปรุ่น S MT ด้วยตัวเองครับ)

ส่วนรุ่น E MT , E CVT , ES CVT , V CVT จะเหมือนกันหมด คือ ขอบกระจังหน้ารูปคางหมูอู๊ด ๆ นั้น จะเป็นสีโครเมียม และกระจกมองข้างจะเป็นสีเดียวกับตัวรถครับ


ส่วนรุ่น VL CVT จริง ๆ ก็เหมือนกับรุ่น E MT – V CVT นั่นแหล่ะครับ แต่เพิ่มความพิเศษตรง”ไฟตัดหมอก” เป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงานมาให้เลย


จากด้านหน้ามาดูด้านข้างกันครับ
สำหรับรุ่น S MT ผมไม่มีภาพประกอบนะครับ แต่ถ้าเพื่อน ๆ ได้เห็น จะสังเกตได้ง่าย ๆ เลย ตรงมือจับเปิดประตูทั้งหมดและกระจกมองข้างเป็นสีดำด้านครับ

ส่วนรุ่น E MT , E CVT และ ES CVT จะเหมือนกันเลยแบบนี้

นั่นคือ
1. เสากลางระหว่างประตูหน้าและประตูหลังเป็นสีเดียวกับตัวรถ


2. มือจับเปิดประตูเป็นโครเมียมทุกอัน

3. ล้อกะทะขนาด 14 นิ้ว แบบมีฝาครอบ (ลายคล้ายล้ออัลลอยมาก) พร้อมยาง Bridgestone รุ่น B250 ขนาด 175/70R14


คราวนี้มาดูรุ่น V CVT กับ VL CVT กันบ้าง

จะพบว่า แม้มีมือจับเปิดประตูโครเมียมเหมือนรุ่น E MT – ES CVT ก็ตาม แต่พบความแตกต่างอยู่ 3 จุด
1. ที่มือจับประตูเฉพาะประตูหน้าของรุ่น VL CVT จะมีปุ่มยางสีดำอยู่ สำหรับการใช้ปลดล็อครถด้วยระบบกุญแจอัจฉริยะ (รายละเอียดการใช้งาน จะอธิบายให้ทราบในรีวิวตอนต่อ ๆ ไป)
ส่วนรุ่น V CVT จะไม่มีปุ่มยางนะครับ เป็นมือจับโครเมียมเฉย ๆ

2. เสากลางของทั้ง 2 รุ่นเป็นสีดำ (ติด sticker อย่างดีเพิ่มเติม)


3. ล้ออัลลอยหรือที่เรียกติดปากว่า”ล้อแม็ค” ขนาด 15 นิ้ว พร้อมยาง Bridgestone รุ่น B250 ขนาด 185/65R15


จากด้านข้าง เราเดินไปดูด้านหลังกันต่อเลยครับ


ด้านหลัง จะพบสปอยเลอร์ท้ายขนาดใหญ่พร้อมไฟเบรค ซึ่งนิสสันจัดเต็มให้ทุกรุ่นเลยครับ

ผมได้ยินหลายท่านแอบบ่นว่าไม่ชอบสปอยเลอร์ท้ายทรงนี้สักเท่าไหร่ บางคนว่าเหมือนตูดเป็ด!!
เอ้า ๆ อย่าเพิ่งไป“เซ็งเป็ด”กันเลยครับ ผมจะบอกอะไรให้ว่า สปอยเลอร์ท้ายตัวนี้เนี่ย มีผลต่อการขับขี่ Almera ด้วยความเร็วสูง รวมถึงอัตราการกินน้ำมันเลยนะครับ

ซึ่งเจ้าสปอยเลอร์ตัวนี้ช่วยในด้านอากาศพลศาสตร์เป็นอย่างดี อ๊ะ อ๊ะ อ๊ะ งงละสิครับ พูดง่าย ๆ สปอยเลอร์นี้ช่วยให้รถลู่ลม มากกว่าต้านลมนั่นแหล่ะครับ
แถมเจ้า Almera นี่ยังมีตัวเลขการลู่ลม / ต้านลมเทียบเท่ากับรถสปอร์ตรุ่นพี่ในค่ายอย่าง Nissan 370Z Fairlady เลยน้า ถือว่าเยี่ยมยอดเลยทีเดียวครับ


จากสปอยเลอร์หลัง เพื่อน ๆ สังเกตไหม ว่า E MT กับ E CVT เนี่ย เราเดินดูตั้งแต่ด้านหน้าและด้านข้างแล้ว ก็ยังแยกไม่ออกว่า “มันต่างกันตรงไหน?”
ผมก็จะบอกเพื่อน ๆ ให้ว่า มันต่างกันตรงนี้ครับ

เจ้าโลโก้ตัวนี้จะติดอยู่มุมล่างขวาของฝากระโปรงรถ บ่งบอกว่า รถของเพื่อน ๆ คือ “เกียร์อะไร?” นั่นเอง
ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ เห็น Almera คันไหน เป็นแบบรูปข้างบนนี้ ที่เขียนว่า “Pure Drive” นั่นคือ รถคันนี้เป็นเกียร์ธรรมดาครับ

แต่ถ้ารถเพื่อน ๆ เป็นรุ่น “เกียร์มัว” หรือกลัวเมีย อันนี้ Almera แยกให้ไม่ได้นะคร้าบบบ 55555+

ส่วนโลโก้แบบข้างล่างนี้ จะระบุให้เราทราบว่า คันนั้นคือ เกียร์ CVT หรือ เกียร์ออโต้นั่นเอง

ซึ่งตระกูล CVT อันประกอบไปด้วย E ES V VL ก็จะมีโลโก้นี้ติดอยู่เหมือนกันหมด
จุดนี้แหล่ะครับ ทำให้เราแยก E MT กับ E CVT ได้ ถ้าดูเฉพาะภายนอก

สำหรับข้างหลัง ยังมีอีกจุดหนึ่งที่แตกต่าง และเป็นเอกสิทธิพิเศษสำหรับรุ่น Top ที่มีนามว่า VL CVT
ซึ่งถ้ามองก้นงาม ๆ ของเค้า เราจะไม่เห็นความแตกต่างครับ


แต่ถ้าเอามือมาจับใต้โลโก้ Nissan แล้ว เพื่อน ๆ จะพบว่ารุ่น VL CVT จะมีปุ่มยาว ๆ ให้กดครับ


ปุ่มนี้คือ ปุ่มกดเปิดฝากระโปรงหลังนั่นเองครับ


แต่ปุ่มนี้ ใครเดินซี้ซั้วมากดไม่ได้นะครับ ถ้าไม่มีกุญแจอัจฉริยะติดตัว

สำหรับรายละเอียดการใช้งานจริงก็จะมาอธิบายเจาะลึกกันอีกทีในรีวิวถัด ๆ ไปครับ
ซึ่งความแตกต่างภายนอกก็มีเพียงเท่านี้ครับ ใช้ดูกันแบบ”คร่าว ๆ” ได้เลย
———————–
ทีนี้ เรามาดูภายในกันดีกว่าครับ ว่าแตกต่างกันตรงไหนบ้าง


แต่ก่อนอื่น ต้องเอากุญแจมาเปิดรถก่อน

แว๊กกก ขนาดกุญแจยังแตกต่างกันเลย!!!

กุญแจธรรมดา ๆ นี้เป็นของรุ่น S MT , E MT , E CVT และ ES CVT ครับ


ส่วนกุญแจรีโมทดอกนี้เป็นของ V CVT แต่เพียงผู้เดียวครับ


และสุดท้ายก็คือ กุญแจอัจฉริยะ ที่วัน ๆ แทบไม่ต้องหยิบขึ้นมาดูหน้าค่าตากันเลย เอกสิทธิ์สำหรับ VL CVT นั่นเองครับ


ไขกุญแจเข้าไปดูแผงประตูก่อน ภาพนี้คือแผงประตูของรุ่น E MT , E CVT และ ES CVT ครับ
ส่วน S MT ผมไม่มีภาพมาฝาก แต่ดูง่าย ๆ เลย เพราะ S MT จะไม่มีปุ่มระบบไฟฟ้าเลยครับ เพราะกระจกใช้หมุนเอาเหมือนรถสมัยก่อน


ส่วนแผงประตูของรุ่น V CVT และ VL CVT นั้น เพิ่มความแตกต่างขึ้นอย่างชัดเจน ตามภาพครับ


นอกจากลายบุแผงประตูและขอบสีเงินที่แตกต่างแล้ว ยังมีที่เปิดประตูภายในเป็นสีโครเมียม เพิ่มความหรูหราอีกต่างหาก


ก่อนจะขึ้นไปลองนั่งหาความแตกต่างภายใน ผมก้มลงดูที่เบาะรองนั่งคนขับ ก็พบภาพนี้ครับ
ก้านซ้ายสุดคือที่ปรับเอนหลังครับ ส่วนก้านยาว ๆ ด้านขวาเอาไว้ปรับความสูง-ต่ำของเบาะนั่งด้านคนขับ
ซึ่ง E MT – VL CVT จะเป็นแบบนี้เหมือนกันหมดนะครับ

ส่วนรุ่น S MT ไม่สามารถปรับความสูง-ต่ำได้นะครับ เป็นรุ่นเดียวของ Almera ที่ไม่มีก้านยาว ๆ ด้านขวามือเหมือนชาวบ้านครับ

จากนั้นผมก็ขึ้นนั่งบนเบาะด้านคนขับ สำรวจความแตกต่างต่อ ซึ่งตัวเบาะและลายผ้าของรุ่น E MT – VL CVT จะเหมือนกันหมดนะครับ ยกเว้นรุ่น S MT จะแตกต่างออกไป


เริ่มที่พวงมาลัย สำหรับพวงมาลัยยูรีเทนมีถุงลมนิรภัยที่เห็นด้านล่างนี้ คือ พวงมาลัยตั้งแต่รุ่น S MT , E MT , E CVT และ ES CVT ครับ


ส่วนพวงมาลัยยูรีเทนมีถุงลมนิรภัย ที่ถูกตกแต่งแถบสีเงิน พร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียงด้านซ้ายมือ มีให้เฉพาะรุ่น V CVT และ VL CVT ครับ
ถ้าเพื่อน ๆ ที่ขับรุ่น S MT – ES CVT แต่อยากได้ปุ่มควบคุมเครื่องเสียงด้วย ต้องเปลี่ยนพวงมาลัยใหม่ให้เป็นพวงมาลัยรุ่น V CVT และ VL CVT นะครับ ถึงจะติดตั้งปุ่มควบคุมเครื่องเสียงได้ครับ เพราะพวงมาลัยเดิมไม่สามารถติดตั้งได้นั่นเอง

มองทะลุพวงมาลัยไป เราจะพบเรือนไมล์แบบนี้ ซึ่งเป็นของ S MT , E MT , E CVT และ ES CVT ครับ


แต่เมื่อเปิดประตูมาดูรุ่น V CVT และ VL CVT ผมจะพบกับเรือนไมล์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ เรือนไมล์แบบเรืองแสง
สำหรับการรีวิวเรือนไมล์ทั้ง 2 แบบอย่างละเอียด ขอให้ติดตามจากรีวิวตอนถัด ๆ ไปนะครับ

จากนั้นเอี้ยวตัวมาทางขวา จะพบกับก้านยาว ๆ ที่ติดกับพวงมาลัย
จากรูปข้างบนเป็นก้านของ S MT , E MT , E CVT , ES CVT และ V CVT ครับ ซึ่งใช้สำหรับเปิดไฟเลี้ยว / เปิดไฟหรี่ / เปิดไฟหน้า / เปิดไฟสูง

ส่วนรูปด้านล่าง เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะ VL CVT อีกแล้วครับท่าน เพราะนอกจากจะเปิดไฟได้เหมือนรุ่นอื่น ๆ แล้ว ยังเพิ่มในส่วนของไฟตัดหมอก มาให้หมุนเปิด-ปิดตรงกลางของก้านอีกด้วย


จากนั้น เอี้ยวตัวไปทางขวาอีกเล็กน้อย ก็จะเจอภาพนี้ที่คอนโซลด้านขวาสุด

ที่เห็นในภาพคือ ปุ่มปรับกระจกมองข้างไฟฟ้า ซึ่งมีในรุ่น E MT และ E CVT เท่านั้น
แต่ถ้าก้มลงไปข้างล่างอีกนิดจะเห็นปุ่ม “Auto off” ปุ่มนี้คือ ปุ่มสั่งปิดระบบ Idle stop ซึ่งจะมีในทุกรุ่นที่เป็นเกียร์ CVT ตั้งแต่ E CVT – VL CVT

ดังนั้น ถ้ารุ่นไหนมีปุ่มปรับกระจกไฟฟ้าแบบนี้ แต่ไม่มีปุ่ม Auto off คันนั้นคือ E MT แน่นอน เพราะ Nissan Almera เกียร์ธรรมดา ไม่มีระบบ Idle Stop ครับ
แต่ถ้าคันนั้นมีปุ่ม Auto off คันนั้นก็จะกลายเป็น E CVT นั่นเอง

แต่ถ้าเพื่อน ๆ เปิดรถคันไหนแล้วเห็นแบบนี้
ก็จะมีเพียง 3 รุ่นเท่านั้น นั่นคือ ES CVT , V CVT และ VL CVT
เพราะปุ่มที่เพิ่มมา คือ ปุ่มพับกระจกมองข้างครับ

ด้านขวาหมดแล้ว ย้ายมาดูด้านซ้ายของพวงมาลัย ก็จะเจอก้านแบบนี้ครับ

นี่คือ ที่ปัดน้ำฝนกระจกหน้าสำหรับรุ่น S MT , E MT , E CVT , ES CVT และ V CVT ครับ

ส่วน VL CVT ได้เอกสิทธิ์หนึ่งเดียวในตองอูไปครอบครองอีกแล้ว เพราะจะกลายเป็นแบบนี้

เอ๊ะ แล้วมันมีอะไรเพิ่มขึ้นมาน้า? ถ้าอยากรู้ รบกวนเข้าไปดูที่ วิธีใช้ที่ปัดน้ำฝนแบบหน่วงเวลา และแบบตั้งเวลาหน่วงใน NISSAN ALMERAได้เลยครับ เพราะผมเขียนรีวิวข้อแตกต่าง และวิธีใช้งานให้เรียบร้อยแล้ว

เอี้ยวตัวมาทางซ้ายอีกนิด จะพบกับภาพนี้ครับ
จะเห็นปุ่มกลม ๆ ว่างอยู่ ไม่มีอะไรให้กด ซึ่งจะเหมือนกันหมดตั้งแต่รุ่น S MT , E MT , E CVT , ES CVT และ V CVT ครับ

ส่วน VL CVT ก็ได้ร้องเพลง“หนึ่งเดียวคนนี้” ของพี่ปุ๊ อัญชลีไปตามระเบียบ เพราะตรงกลม ๆ นี้คือ ตำแหน่งของปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์ครับ


จากนั้นเราย้ายสายตามาตรงกลางคอนโซลกันบ้างครับ
ในภาพด้านบนนี้ จะเป็นรุ่น E MT และ E CVT ครับ จะได้แอร์เป็นมือบิดธรรมดาครับ
ส่วนรุ่น S MT ก็จะเหมือนในภาพ แต่ตัดวิทยุออกไปครับ มีแต่แอร์มือบิดเพียว ๆ เลย

แต่ถ้าเปิดประตูมาเจอรูปนี้

ก็จะเป็นรุ่น ES CVT , V CVT และ VL CVT ครับ ที่ได้แอร์ออโตทรงกลมสีเงินเหมือนใน Nissan March มาใช้

ถัดจากแอร์ ก้มลงมาก็จะเจอคันเกียร์แบบนี้ ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องเป็นของ S MT และ E MT อย่างแน่นอน


แต่ถ้าเจอเกียร์แบบนี้ นั่นก็คือ E CVT และ ES CVT ครับ


ส่วน V CVT และ VL CVT เลือกที่จะแตกต่างออกไปในสไตล์รถราคาแพง(ขึ้น) ด้วยการประดับสีเงินที่คันเกียร์แบบนี้ครับ


จากเกียร์ผมกลับมามองเพดานด้านคนขับ เห็นที่บังแดด เลยดึงออกมาดู
โห ไม่มีกระจกส่องหน้าเลยอ่ะ แบบนี้จะสำรวจความหล่อได้ไงละเนี่ย!!
ซึ่งที่บังแดด(จริง ๆ) แบบนี้จะมีตั้งแต่ S MT – V CVT เลยนะครับ

ยกเว้น VL CVT คันเดียวเท่านั้น ที่จะได้กระจกไว้เช็คความหล่อหรือความสวยของคนขับก่อนลงไปพบปะผู้คน



สำหรับภายในของเจ้า Almera ก็หมดแล้วครับ สำหรับการหาข้อแตกต่างในแต่ละรุ่น ผมก็เลยก้มตัวลง เอามือขวาไปดึงสลักขึ้นเพื่อเปิดฝากระโปรงหลัง


ฝากระโปรงหลังก็จะเด้งขึ้นมาประมาณนี้


สำหรับรุ่น S MT , E MT , E CVT และ ES CVT ผมพบภาพแบบนี้เหมือนกันเด๊ะ


แต่ในรุ่น V CVT และ VL CVT ผมกลับพบว่ามีการหุ้มผ้าเพิ่มขึ้น ทำให้ดูดีขึ้นอย่างชัดเจน


ซึ่งการหุ้มผ้าแบบนี้ ก็จะเหมือนในรุ่นพี่ Teana เพียงแต่ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ของรุ่นพี่ Teana จะดูดีกว่าตามประสารถหรู


และเมื่อก้มลงดูห้องสัมภาระของรุ่น S MT – V CVT ก็จะเป็นแบบนี้ ซึ่งข้อเสียคือ เมื่อเปิดตอนกลางคืนจะหาอะไรไม่เจอเลย เพราะมืดสนิท


แต่ในรุ่น VL CVT จะแตกต่าง เพราะมีไฟติดมาให้ด้วย


ทำให้การเปิดหาของในยามค่ำคืนนั้น สบาย ๆ


ลองเปิดของพี่ Teana ดู จะเห็นว่ามีไฟเหมือนกัน แต่การจัดวางของพี่ใหญ่ก็ดูดีกว่าตามราคานั่นเอง

ก็คงหมดเพียงเท่านี้แหล่ะครับ สำหรับความแตกต่างทั้งภายนอกและภายในของ Nissan Almera ซึ่งรายละเอียดการใช้งานในแต่ละจุด ผมก็คงขอยกยอดไปไว้ในตอนต่อ ๆ ไปแล้วกันนะครับ
———————————
ส่วนความแตกต่างด้านความปลอดภัยที่อาจจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ก็จะมีเพิ่มดังนี้
ถุงลมนิรภัยเฉพาะคนขับ – S MT , E MT , E CVT , ES CVT
ถุงลมนิรภัยคู่หน้า – V CVT , VL CVT
ส่วนระบบเบรค ABS , EBD , BA จะมีเฉพาะ ES CVT , V CVT และ VL CVT ครับ
———————————–
สำหรับตอนหน้า ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปเรียนรู้การใช้งาน function ในแต่ละจุดเพื่อให้รู้ว่า รถคันนี้จ่ายเงินไป เราทำอะไรได้บ้าง? ก่อนที่จะพาขึ้นรถ Almera เพื่อไปดูว่าการขับขี่เจ้า Eco Car คันใหญ่นั้น จะเป็นอย่างไร? จะอืดหรือไม่? วิ่งทางไกลได้หรือเปล่า? ก็ขอให้ติดตามต่อไปนะครับ

ว่าแต่ว่า เพื่อน ๆ อยากนั่งคันไหนก่อนครับ? ระหว่างเกียร์ธรรมดาตัว Top อย่าง E MT หรือ เกียร์ CVT ตัว Top อย่าง VL CVT
ลองเสนอความเห็นกันได้เลยนะครับ ถ้าเพื่อน ๆ อยากนั่งคันไหนก่อน ผมก็จะจัดให้ตามคำเรียกร้องครับ